ความเป็นมาของสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม
ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าสังคมไทย คือ สังคมแห่งการบริจาค โดยเฉพาะการบริจาคเงินเพื่อการกุศลจำนวนหลายหมื่นล้านบาทต่อปี นี้ไม่นับว่ามีงบประมาณจากภาครัฐสนับสนุนผ่านกองทุนต่างๆในกระทรวง กรม กอง เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสังคมอีกจำนวนไม่น้อย แต่นั้นเองเมื่อนำจำนวนเงินดังกล่าวมาพิจารณา ก็จะเห็นได้ว่า เป็นสัดส่วนที่ยังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับ “ขนาดของปัญหาสังคม” ที่ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับคนเล็กคนน้อยนับวันจะถ่างขยายกว้างออกไปไม่มีที่สิ้นสุด ลำพังเพียงเงินบริจาคหรืองบประมาณจากภาครัฐ นี้จึงย่อมไม่เพียงพอ ดังนั้นการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดกองทุนเพื่อใช้ในการดำเนินงานขององค์กรภาคประชาสังคมโดยตรง จึงเป็นภารกิจสำคัญยิ่งยวด
ในหลายปีที่ผ่านมาจึงมีความพยายามของหลายหน่วยงาน เช่น กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Investment Fund : SIF) มูลนิธิกองทุนไทย ฯลฯ ในการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อมุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนตามแนวทางที่มุ่งผลไปยังประชาชนเป็นหลัก
รูปธรรมสำคัญของการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2554 มีมติสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยครั้งที่ 1 ให้มีการนำเงินรายได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาลไปเข้ากองทุนด้านสังคมของรัฐ จึงได้เกิดขบวนการทำงานร่วมกันของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมขึ้นมา เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดกองทุนภาคประชาสังคมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ.2555 เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในกลุ่มที่ทำงานด้านประชากร และต่อมาได้เชื่อมไปถึงเครือข่ายของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จนเกิดเป็นขบวนขับเคลื่อนการสร้างกองทุนภาคประชาสังคมและกฎหมายส่งเสริมภาคประชาสังคมขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ.2557 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน (ร่าง) กฎหมายเกี่ยวกับกิจการสลากเพื่อสังคมและกองทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคม เพื่อสนับสนุนให้มีการศึกษาและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรูปแบบการบริหารกองทุนที่เหมาะสม กลไกระบบการคลังเพื่อสังคม รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงาน องค์กร และภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกองทุนภาคประชาสังคม
พ.ศ.2558 เกิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม มีคณะกรรมการ เรียกว่า “คสป.” และอนุกรรมการ 3 คณะ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดกฎหมาย แผนยุทธศาสตร์ และระบบฐานข้อมูลขององค์กรภาคประชาสังคม
พ.ศ.2559 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปี 2557 และได้มีการประชุมหารือ เรื่องแนวทางการจัดตั้ง “สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม (สสป.)” ขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งองค์กรภาคประชาสังคม และการเป็นระบบสนับสนุนในการเสริมกระบวนการทำงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ.2558
พ.ศ.2560 เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่ร่วมขับเคลื่อนจึงได้ร่วมมือกันจัดตั้ง “สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม (สสป.)” ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ภายใต้มติที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิกองทุนไทยเป็นเบื้องต้น เพื่อให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เชื่อมประสานการทำงานของเครือข่ายฯ เพื่อการขับเคลื่อนงานร่วมกันในกิจกรรมหรือนโยบายที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ในการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรภาคประชาสังคม, การพัฒนาและเสริมศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคมและคนทำงานภาคประชาสังคม , การส่งเสริมให้นักพัฒนาสังคมรุ่นใหม่ได้มาทำงานภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการดำเนินการจัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม