ครอบครัว เป็นสถาบันสังคมแรกเริ่มที่มีความสำคัญที่สุด เป็นการรวมตัวของบุคคลที่มีความรัก ความผูกพันช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน เป็นสถาบันแรกที่ทำหน้าที่ทางสังคมในการ ถ่ายทอดค่านิยม ปลูกฝังความเชื่อ สร้างเสริมทัศนคติ กำหนดบุคลิกภาพ วิธีประพฤติปฏิบัติตน รวมทั้งการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมให้แก่ สมาชิกรุ่นใหม่ ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาสังคมและประเทศ ครอบครัวจึงเปรียบเสมือนจักรกลชั้นแรกที่ทำหน้าที่หล่อหลอมบุคลิกภาพของบุคคลให้เป็นไปตามที่สังคมต้องการ นำไปสู่การดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข
ครอบครัวไทยแต่เดิมมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย มีสมาชิกครอบครัว หลายช่วงอายุ มีความใกล้ชิดสนิทสนมมีความผูกพัน มีสัมพันธภาพแน่นแฟ้น มีความเคารพนับถือ ให้ความช่วยเหลือ ดูแลกันอย่างทั่วถึง แต่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบัน ส่งผลให้สภาพครอบครัวไทยเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่ลูก ไม่ค่อยมีความใกล้ชิดกันมากนัก เพราะจะต้องออกไปหารายได้นอกบ้าน มาช่วยจุนเจือครอบครัว ลูกต้องจ้างคนอื่นเลี้ยง หรือให้ญาติดูแล หรือต้องฝากเข้าโรงเรียนก่อนวัยเรียน ความผูกพัน ความเอาใจใส่ซึ่งกันและภายในครอบครัวลดลง สิ่งแวดล้อมภายนอก คือ “กลุ่มเพื่อนมีความสำคัญมากกว่าครอบครัว” ถ้าได้ไปเข้ากลุ่มกับเพื่อนที่ไม่ดีเป็นคนเลวร้าย ปัญหาอื่นๆ อาจตามมา เช่น ติดการพนัน ยาเสพติด ซ่องโจร สำส่อนทางเพศ ก่ออาชญากรรม เป็นต้น
สภาพที่เกิดขึ้นเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึง “ความล้มเหลวของสถาบันครอบครัว” ซึ่งสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ ความแตกแยกของพ่อแม่ในการครองชีวิตคู่ ความไม่สนใจ ใส่ใจดูแลลูก การทุ่มเทให้กับการทำมาหากิน หรือสิ่งอื่นๆ มากกว่าลูก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เด็กในครอบครัวรู้สึกขาดความมั่นคง ขาดความรักความอบอุ่นและขาดรูปแบบที่เหมาะสมที่จะยึดเป็นแนวทางได้ ทำให้เด็กมีโอกาสง่ายต่อการเดิน “หลงทางชีวิต”
ด้วยสภาพปัญหาดังกล่าว มูลนิธิเครือข่ายครอบคัวจึงถูกก่อตั้งขึ้น ในปี พ.ศ.2542 เกิดจากการรวมกลุ่มของพ่อแม่กลุ่มหนึ่งที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาซึ่งใช้ชื่อว่า “ชมรมพ่อแม่” จากนั้นจึงพัฒนาเติบโตมาเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่มีเป้าหมายชัดเจน คือ “เพื่อความเข้มแข็งของครอบครัวไทย” ดังที่ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ รองประธานมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ได้กล่าวไว้ว่า
“การสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวเป็นรากฐานสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคมไทย มูลนิธิฯ ตั้งใจที่จะสร้างความตระหนักให้กับครอบครัวถึงการเลี้ยงดูลูกที่ถูกทาง การใช้ชีวิตคู่ให้เป็นสุข เป็นแบบอย่างที่ดีกับลูกการใช้เวลาของครอบครัวให้มีคุณค่า และพัฒนาการเรียนรู้ของลูก
มูลนิธิฯ จะร้อยรัดครอบครัวประสานให้เป็นพลัง ในการป้องกันสื่อและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลทางลบต่อครอบครัว เรียกร้องและสนับสนุนให้มีการสร้างสื่อและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาครอบครัว และที่สำคัญยิ่ง คือเชื่อมโยงบทบาทของครอบครัวกับสถานศึกษาในการพัฒนาเยาวชน”
มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มีบทบาทในการประสานและสร้างความตระหนักในการส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้เกิดขึ้นทั้งในบุคคล ชุมชน และสังคม ด้วยการนำเสนอกระบวนการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายความร่วมมือ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและเรียกร้องต่อรองสิทธิอันพึงมีของครอบครัว พันธกิจที่สำคัญคือ ส่งเสริมให้พ่อแม่ชั้นกลางใช้โอกาสเป็นพ่อแม่ของตนอย่างมีคุณค่า เพื่อทำหน้าที่ยิ่งใหญ่ให้ประสบผลสำเร็จนั่นคือหน้าที่ของความเป็นพ่อแม่นั่นเอง
ปัจจุบันมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ดำเนินการให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นองค์กรของพ่อแม่ และครอบครัวในรูปแบบต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ร่วมกัน เป็นเครือข่ายที่ทำงานเพื่อสังคม อาทิ เครือข่ายครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว (Single parent), เครือข่ายผู้ปกครองในโรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวและโรงเรียนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก, เครือข่ายครอบครัวทั่วไป และครอบครัวอาสา ซึ่งเป็นรวมกลุ่มครอบครัวที่สนใจในการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม โดยร่วมกันทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ในประเด็นต่างๆอาทิ เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ เครือข่ายครอบครัวจิตอาสา เพื่อนครอบครัว (Buddy Family) เป็นต้น
มูลนิธิฯ ยังคงทำงานกันอย่างแข็งขัน เพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพความเป็นครอบครัวไทยที่อบอุ่นและเข้มแข็งให้กลับมามีบทบาททางสังคม สืบทอดวัฒนธรรมการเกื้อกูลกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวและระหว่างครอบครัว ตามที่ คุณโสภณ สุภาพงษ์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวไว้ว่า
“บ้านหรือครอบครัว เป็นที่พักพิงและที่เรียนรู้สำคัญที่สุดของมนุษย์ เพราะที่บ้านเราใช้ความสัมพันธ์ด้วยหน้าที่ตามธรรมชาติของมนุษย์พึงปฏิบัติต่อกันที่บ้าน ... เราเรียนรู้ว่า คนอ่อนแอ คนเจ็บป่วย เป็นผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ คนแข็งแรงเป็นผู้เสียสละ
แม่เป็นแบบอย่างของการทำหน้าที่มนุษย์ แม่ไม่เคยให้ใครที่มีอำนาจหรือเงินเป็นใหญ่ ลูกที่อ่อนแอเป็นใหญ่เสมอ ขณะที่สังคมภายนอกในปัจจุบันหลงยึดการถือการใช้วิชาความรู้ ใช้อำนาจเงินเสรี เอาเปรียบคนอ่อนแอ ทำกำไรจากคนจน หากินกับคนเจ็บป่วยซึ่งขัดต่อหน้าที่มนุษย์ และศาสนธรรมทั้งสิ้น การเรียนรู้ การรักษาความเป็นบ้าน ความเป็นแม่จะช่วยป้องกันครอบครัวของตน ช่วยเหลือครอบครัวของผู้อื่น และช่วยกันทำโครงการสร้างสุขภาพสังคมใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว www.familynetwork.or.th
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : www.familynetwork.or.th, www.mcu.ac.th