นับแต่อดีตกาลที่ผ่านมา คนพิการในสายตาและความรู้สึกของคนปกติจะถูกมองไปว่าเป็นคนมีกรรม ที่เกิดมาไม่สมประกอบเหมือนคนปกติทั่วไป และมีชีวิตที่ดำรงอยู่ ด้วยวิถีชีวิตที่มีคุณภาพชีวิต ที่ไม่เหมือนกับคนทั่วไป โอกาสต่างๆที่คนพิการจะได้รับจึง ด้อยกว่า คนปกติไปด้วย ปัจจุบัน คนพิการหลายคนพิสูจน์ให้คนปกติได้เห็นแล้วว่า พวกเขา มีความพิการแต่เฉพาะทางร่างกายเท่านั้น จิตใจ และมันสมองมิได้พิการไปด้วย
คุณค่าของคนพิการในยุคนี้จึงมีปรากฏให้คนปกติได้เห็นอย่างสม่ำเสมอว่า คุณภาพชีวิตของคนพิการไม่แตกต่างไปกว่าคนปกติเลย แถมบางคนยังมีอัจฉริยภาพมากกว่าคนปกติด้วยซ้ำไป จึงไม่น่าแปลกที่จะได้เห็น คนพิการ ยืนอยู่บนแท่นแห่งเกียรติยศ เช่นเดียวกับคนปกติทั่วๆไปในทุกวงการ ในแวดวงการศึกษา คนพิการ สามารถก้าวขึ้นสู่ สุดยอดแห่งมันสมองอัจฉริยะได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วๆไป และ พวกเขาเหล่านี้สามารถถ่ายทอดความรู้ความสามารถ ที่เขามีอยู่ไปสู่ลูกหลานในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จาก ศาสตราจารย์ ผู้ช่วย ศาตราจารย์ ครู ตั้งแต่ระดับ ปริญญาตรีไปจนถึงระดับปริญญาเอก
ในแวดวงกีฬา คนพิการหลายคนก้าวขึ้นไปสู่ ความเป็น แชมเปี้ยนระดับโลก ที่ ทั่วโลกให้การยอมรับอย่างไม่มีข้อกังขา ในแวดวงศิลปะ-ดนตรี คนพิการมากมายกลายเป็นอัจริยทางดนตรี กลายเป็นอัจริยะทางจิตรกรรม และ กลายเป็นอัจริยะทางประติมากรรม รวมความแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในแวดวงใดๆ ทุกวันนี้โลกของคนพิการ มิได้พิการไปตามสภาพร่างกายของพวกเขาแล้ว ยิ่งได้รับการส่งเสริม และสนับสนุน ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ทำให้ โลกของคนพิการยิ่งสดใสมากขึ้น จนเกือบจะทำให้ คำว่า "ความพิการคือปมด้อย"หายไปจาก โลกของคนพิการแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ในความรู้สึกของคนดั้งเดิมที่มองว่า คนพิการเป็นปัญหาของสังคมจึงหมดสิ้นลงไป เพราะคนพิการไม่ได้เป็นตัวปัญหาของสังคมอีกต่อไปแล้ว แต่คนพิการสามารถช่วยเหลือ และส่งเสริมให้สังคมดีขึ้นได้เช่นเดียวกับคนปกติโดยทั่วไป
สังคมไทยวันนี้ ในบริบทแห่ง การงาน อาชีพ คนพิการ มีโอกาสได้เข้าไปร่วมทำงานกับคนปกติโดยทั่วไป ในบริบทแห่งการเรียนรู้ คนพิการก็มีโอกาสเพื่อการเรียนมากขึ้น โอกาสของคนพิการที่เคยขาดมาตั้งแต่อดีต ค่อยๆเปิดกว้างขึ้น เมื่อคนในสังคมยอมรับถึงความรู้ ความสามารถของคนพิการ โลกของคนพิการในปัจจุบันจึงเป็นโลกเดียวกับคนปกติ ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีช่องว่างมากนัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มิได้หมายความว่า คนพิการจะสามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากคนปกติ ดังนั้น จึงได้เกิด มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ขึ้นเมื่อ วันที่ 14 ธันวาคม 2542 โดย โดยสืบเนื่องจาก เมื่อครั้งที่ ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเฟสปิกเกมส์ ระหว่างวันที่ 10 - 16 มกราคม 2541 โดยที่การจัดการแข่งขันดังกล่าวประสบปัญหาด้านงบประมาณ รัฐบาลในขณะนั้นจึงให้จัดงานการกุศลเพื่อระดมทุน เพื่อสร้างเสริม และพัฒนาความสามารถของคนพิการไทยให้มีความเป็นเลิศในด้านกีฬา อันจะนำไปสู่โอกาสการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง รัฐบาลยังได้ผลักดันให้เกิดการดำเนินการก่อตั้ง “มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย” ขึ้น เพื่อให้ดำเนินงานสืบสานเจตนารมณ์ที่จะให้คนพิการไทย ได้รับการพัฒนาแบบยั่งยืน และมั่นคงตลอดไป
มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย มีบทบาทหลักในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการทุกประเภท เพื่อสนับสนุนให้คนพิการดำรงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และดำเนินชีวิตร่วมกับคนทั่วไปในสังคมอย่างอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน
ทั้งยังสนับสนุนการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างยั่งยืน ด้วยการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากบริการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างรอบด้านและครบวงจร ทั้งด้านการแพทย์ การศึกษา สังคม อาชีพ กีฬา นันทนาการ และวัฒนธรรม เป็นต้น
นอกจากนี้มูลนิธิฯยัง ให้บริการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการทุกประเภท โดยการมีส่วนร่วมยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ เผยแพร่ความรู้และข้อมูลข่าวสารเรื่องกฎหมายด้านคนพิการ ส่งเสริมการขับเคลื่อนเพื่อบังคับใช้กฎหมาย และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ
โลกของคนพิการในยุคนี้จึงดูสดใส ที่ ทำให้ จิตและวิญญาณของคนพิการเกิดความสุขมากขึ้น ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับมวลมนุษยชาติที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตลอดไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://th-th.facebook.com/tddf.or.th?sk=info
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : www.mirror.or.th, www.manager.co.th