กองทุนภาคประชาสังคม

มูลนิธิเพื่อนหญิง เพื่อเพศหญิง

“ผู้หญิงต้องมีสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเองและสังคม”

นี่เป็นคำกล่าวของ “คุณเจี๊ยบ”" ธนวดี ท่าจีน ประธานมูลนิธิเพื่อนหญิง ที่สะท้อนให้เห็นว่า ผู้หญิงมีศักดิ์และศรี มีสิทธิเสมอภาค กับเพศอื่นๆในสังคม

มูลนิธิเพื่อนหญิง เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ.2523 ภายใต้ชื่อ “กลุ่มเพื่อนหญิง” เพื่อดำเนินการพัฒนาสตรี ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หญิง และเด็กที่ประสบปัญหา ตลอดจนรณรงค์ให้สังคมตระหนัก ถึงปัญหาที่ผู้หญิง เผชิญอยู่ในสังคมปัจจุบัน ได้แก่ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศในรูปแบบต่างๆ ทั้งยังส่งเสริมและสนับสนุน ให้ผู้หญิงได้รับสิทธิเสมอภาค เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ และรณรงค์เผยแพร่เพื่อสร้างค่านิยมใหม่ ของหญิงชายในสังคม

มูลนิธิเพื่อนหญิง ยังมีบทบาทในการพิทักษ์สิทธิและให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติความรุนแรงจากภัยคุกคามทางเพศการถูกข่มขู่คุกคามและเผยแพร่คลิปวิดีโอ การถูกทำร้ายโดยบุคคลในครอบครัวที่ส่งผลกระทบด้านร่างกาย จิตใจ สิทธิ เสรีภาพและความมั่นคงในชีวิตตั้งครรภ์และไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบ/ท้องในวัยเรียน/ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ/การใช้แรงงานที่ผิดกฎหมายจากกระบวนการค้ามนุษย์ ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือถูกเลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุแห่งเพศ/เชื้อชาติ/ศาสนา เพื่อเป็นการแก้ปัญหาให้มีผลในเชิงโครงสร้าง ส่งเสริมความเข้าใจบริบทมิติหญิงชายในกระแสการพัฒนาของสังคมยุคใหม่/สร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายขบวนการต่อสู้ของผู้หญิงเพื่อร่วมสร้าง ร่วมคิด ร่วมทำสังคมที่เสมอภาคและเป็นธรรม

นอกจากนี้มูลนิธิเพื่อนหญิง ยังส่งเสริมแนวคิดและความเข้าใจบนพื้นฐานที่ว่าหญิงชายย่อมมีความเสมอภาคมาแต่กำเนิด สังคมจึงควรใช้มาตรฐานเดียวกันในการคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิตหญิงชายตามหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน โดยมูลนิธิฯ ใช้ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้หญิงเข้าใจในบทบาทสิทธิและหน้าที่นำไปสู่ความเข้มแข็งและมีอำนาจต่อรองเชิงโครงสร้างในตัวบุคคล เครือข่ายและกระบวนการเพื่อสร้างพื้นที่/องค์ความรู้จากประสบการณ์การทำงาน/พัฒนาเป็นต้นแบบการขยายผล เพื่อเสริมพลังอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สังคมให้กับผู้หญิง

“เราเชื่อว่า หากสังคมดูแลผู้หญิงดี ผลประโยชน์ก็จะเกิดกับครอบครัวและสังคม”

ด้วยบทบาทดังกล่าว มูลนิธิเพื่อนหญิงจึงผลักดันโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับสิทธิของสตรี เช่น เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2527 โครงการเล็กๆ สำหรับผู้หญิงได้ถือกำเนิดขึ้นโดยมีชื่อว่า “ศูนย์ข่าวผู้หญิง” ซึ่งให้ข้อมูลแก่ผู้หญิงที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เพื่อป้องกันมิให้ผู้หญิงต้องถูกล่อลวงสู่ การค้าประเวณี นอกจากนี้ ยังผลิตสื่อการศึกษาสำหรับผู้หญิงในสาขาอาชีพต่างๆ ในปี พ.ศ.2528 ได้จัดทำโครงการบ้านพักผู้หญิงเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หญิงที่ประสบปัญหาถูกสามีทุบตี รณรงค์เผยแพร่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และต่อมาได้จัดทำโครงการคำหล้า เพื่อรณรงค์ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการหยุดยั้ง การนำเด็กเข้าสู่กระบวนการค้าประเวณี โดยเริ่มจากการใช้หนังสือคำหล้า เผยแพร่ผ่านครูในโรงเรียนเพื่อเป็นสื่อการศึกษากับเด็ก นักเรียน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าการทำงานแก้ปัญหาด้านสิทธิของผู้หญิงไทยนั้นจะยาก เพราะยังมีปัญหาในเรื่องของทัศนคติ แบบไทยๆ สังคมชายเป็นใหญ่ สังคมหญิงเป็นน้อย ขาดความเท่าเทียมกัน แต่มูลนิธิเพื่อนหญิงก็ยังจะทำงานต่อไป เพื่อให้ความช่วยเหลือ แก่ผู้หญิงที่ทุกข์ยากและด้อยโอกาสในสังคม ดังที่คุณ ศิริพร ได้กล่าวไว้

...ปัญหาของผู้หญิงที่มูลนิธิพบในปัจจุบัน ไม่ได้น้อยลงเลย และทางมูลนิธิผู้หญิง ก็จะทำงานอย่างต่อเนื่องตราบใดที่ผู้หญิงยังถูกละเมิดสิทธิ์ ศักดิ์ความเป็นผู้หญิง อย่างในรัฐธรรมนูญก็มีบอกไว้ว่าผู้หญิงผู้ชายมีความเท่าเทียมกัน แต่ตราบใดที่วลีนี้ยังไม่ได้เกิดผลอย่างแท้จริง จึงจะต้องเป็นงานและเป็นโจทย์ของมูลนิธิต่อไป...”

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :               มูลนิธิเพื่อนหญิง www.womenthai.org

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก :         www.womenthai.org

Tag


powered by CIVIL SOCIETY EMPOWERMENT INSTITUTE