ความสำคัญในเรื่อง “ผู้สูงอายุ” เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ จากสังคมไทยมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้เพราะการให้ความเคารพ และให้เกียรติ์ผู้มีอาวุโส และความกตัญญูรู้คุณ เป็นคุณค่าที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสิ่งดีงาม และมีการปลูกฝังมาอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยมีจำนวน และสัดส่วนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หมายถึงว่า ประเทศมีระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น ในการเตรียมรองรับการดูแลผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ยังมีผลกระทบต่อภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม และการบริหารประเทศ ทั้งนี้ เพราะเมื่อโครงสร้างประชากร เริ่มขยับไปสู่การมีประชากรสูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ สัดส่วนของประชากรวัยทำงาน ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ ก็จะลดน้อยลง
แม้ว่าปัจจุบัน รัฐบาลได้กำหนดให้การเตรียมความพร้อมสังคมไทยสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และมีการจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) ไว้แล้ว การที่รัฐ ต้องกำหนดแผนงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้อย่างเป็นทางการนั้น เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางประชากรของประเทศ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับภาวการณ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ของประชากรสูงอายุ
นอกจากภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนให้ให้ความห่วงใยและสนใจในปัญหาดังกล่าว มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อ ศึกษาวิจัยและรวบรวมความรู้เกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งไทยและต่างประเทศ และส่งเสริมการพัฒนารูปแบบการดำเนินการด้านผู้สูงอายุสำหรับใช้ในการพัฒนา คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทย ตลอดจนเผยแพร่ความรู้และวิทยาการเกี่ยวกับผู้สูงอายุให้แก่สังคมโดยรวม
เมื่อวันที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมา มส.ผส.ได้รับรางวัลองค์กรภาคเอกชน ที่ทำประโยชน์ด้านผู้สูงอายุดีเด่นประจำปี 2557 จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยมีผลงาน อาทิ แผนงานคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ : พัฒนาพื้นที่ต้นแบบและปัจจัยสำคัญ (ปี 2553-2555) และแผนงานพัฒนาองค์ความรู้เพื่อมโนทัศน์ใหม่ของนิยามผู้สูงอายุและอายุเกษียณที่เหมาะสมสำหรับคนไทย ซึ่งเป็นแผนงานที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมถึงโครงการรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย เป็นการจัดทำรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปสนับสนุนการจัดทำนโยบายระดับชาติ และการทำงานขององค์กร หน่วยงานภาคส่วนต่างๆ พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น
แม้ว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะให้ความสนใจกับโครงสร้างประชากรที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในระยะอันสั้นนี้ แต่จากผลการศึกษาของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กลับพบว่าประชากรรุ่นหนุ่มสาวและวัยแรงงานซึ่งเป็นคลื่นมนุษย์ขนาดใหญ่ที่จะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคต กลับขาดความตระหนักและการเตรียมความพร้อมเพื่อยามสูงอายุ รวมทั้งยังมีทัศนคติในทางลบต่อความเป็นผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น การดำเนินงานด้านการส่งเสริม พัฒนาและคุ้มครองผู้สูงอายุก็ยังต้องเร่งพัฒนาอีกเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องหลักประกันทางเศรษฐกิจ การเพิ่มโอกาสในการทำงานของผู้สูงอายุ และระบบการดูแลระยะยาวทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ
ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว การการแก้ปัญหาข้อเร่งด่วนที่ต้องเร่งทำให้ทันต่อสภาวการณ์ปัญหาประชากรที่เกิดขึ้นคือ การส่งเสริมให้ผู้ที่อยู่ในวัยเด็กและวัยแรงงาน หรือผู้ที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคตเข้าใจและตระหนักเกี่ยวกับกระบวนการสูงวัย การเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมที่ประกอบด้วยคนหลายวัย การมีทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุ และการเตรียมความพร้อมเมื่อยามสูงอายุ ทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม เพื่อลดผลกระทบทางลบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงวัยปลายของชีวิต
รวมทั้งการเร่งพัฒนาระบบดูแลระยะยาวที่บูรณาการทั้งมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้ผู้สูงอายุอยู่กับครอบครัวและชุมชนได้นานที่สุด และสุดท้ายคือ การเพิ่มความเข้มแข็งและขีดความสามารถของชมรมผู้สูงอายุและกระบวนการสมัชชาผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้สูงอายุ
ปัญหาผู้สูงอายุนับเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ไกลตัว เพราะสักวันหนึ่ง เราๆท่านๆ ก็ต้องกลายเป็นผู้สูงอายุ หากไม่ล้มหายตายจากกันไปเสียก่อน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaitgri.org, www.cps.chula.ac.th, www.thairath.co.th
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : www.thaitgri.org, www.olderfund.opp.go.th