ด้วยปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ ที่สั่งสมมานาน ประกอบกับทัศนคติของคนในสังคม ที่มองว่าหญิงชายไม่เท่ากันแม้ในปัจจุบันจะมีกลุ่มคนที่เปิดรับและมีความเข้าใจมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นคนส่วนน้อย ขณะที่คนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจ และไม่ยอมรับในความเสมอภาคดังกล่าว ปัญหาเหล่านี้เป็นเชื้อไฟ ที่นำพา คุณจะเด็ด เชาวน์วิไล และกลุ่มเพื่อนๆ รวมตัวเข้ามาช่วยเหลือ ลดทอนความไม่เสมอภาคขจัดทัศนคติที่ไม่ถูกต้องออกจากสังคมไทย
“ปัญหาที่เกิดจากทัศนคติ ทำให้เวลาเราไปทำงานก็จะเจอกับอุปสรรคด้านทัศนคติและความเข้าใจ ประกอบกับสังคมไทย แม้ว่าจะมีกฎหมายเข้ามาคุ้มครองความรุนแรงในครอบครัวแล้ว แต่ก็ยังมีกลไกบางส่วนที่ยังไม่ได้หนุนเสริมเท่าที่ควร หรือแม้กระทั่งครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบเอง ก็ยังขาดความเข้าใจถึงสิทธิที่จะปกป้องตนเอง ซึ่งนับว่าเป็นการทำงานที่ต้องใช้เวลา”
คุณจะเด็ดเล่า ถึงการทำงานที่ผ่านมาว่า ต้องต่อสู้กับมายาคติของคนในสังคมที่มีต่อเด็ก ผู้หญิงและการคุกคามทางเพศ ยิ่งในปัจจุบัน ที่สื่อเข้ามามีบทบาทในการนำเสนอภาพที่สะท้อนให้คนในสังคมรับทราบ อย่างเช่นในประเด็นของหญิงที่โดนข่มขืน ก็จะมีนำเสนอออกไปในทำนองว่ามีการแต่งตัววาบหวิว เดินในที่เปลี่ยว ซึ่งแท้ที่จริงแล้วปัญหาเหล่านี้เกิดจากทัศนคติ เกิดจากโครงสร้างทางสังคมที่หล่อหลอมมา ไม่ได้เกิดจากตัวผู้หญิงที่เป็นผู้ถูกกระทำซะทั้งหมด เหล่านี้เป็นเรื่องของความเข้าใจและต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา
“การสร้างความเข้าใจทีละน้อยๆ ปรับเปลี่ยนทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทั้งหญิงและชาย” นี่คือวิธีการทำงานที่ทำให้คุณจะเด็ดสามารถก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคนานัปการได้
“ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาความรุนแรง แม้การทำงานจะใช้เวลา แต่ผมก็ไม่ท้อ ซึ่งนับวันก็จะเห็นผลในทางที่ดีขึ้น สื่อก็เริ่มนำเสนอข่าวในทางดีขึ้น และเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลักหรือสื่อโซเชียลมีเดียที่ทำให้เข้าสู่กลุ่มเป้าหมายมากขึ้น สามารถทำให้รู้สึกว่าการกระทำความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป เริ่มมีการตื่นตัวและมองว่าการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง มีการรณรงค์ร่วมกันมากขึ้น โดยทำให้เกิดกระแสแชร์ผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้นเรื่อยๆ”
คุณจะเด็ดเล่าต่อว่า “การทำงานตลอดมาซึ่งผ่านการทำงานกับชุมชนและผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือคนยากจน ได้มีโอกาสสนับสนุนให้เขารวมกลุ่ม และสร้างพลังต่อให้คนในชุมชน จนสามารถที่จะลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงและเป็นผู้นำในชุมชนได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเขาเห็นปัญหา เขาจึงลุกขึ้นมาสร้างนโยบายสาธารณะในท้องถิ่นได้ ยกตัวอย่างเช่น การรณรงค์ พ.ร.บ.ประกันสังคม เกิดขึ้นเพราะคนงานเริ่มเห็นประโยชน์ในการรวมตัวในการเรียกร้องให้เกิดนโยบายที่เป็นประโยชน์ ไม่เฉพาะแต่ในโรงงานที่เราไปร่วมรณรงค์ แต่ท้ายที่สุดคือกลุ่มคนทั้งประเทศที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนั้น เพียงแต่เราให้โอกาส และร่วมกันสนับสนุนให้เกิดพลัง สร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน นับว่าเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมากในการเปลี่ยนแปลงคนหนึ่งคนจนสามารถลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนครอบครัวและเปลี่ยนสังคมได้”
“คนเราด้วยไม่ได้วัดกันที่ใครเรียนจบมาอย่างไร ทุกคนมีความเท่าเทียมกันได้ จากที่ทำงานกว่า 30 ปี ยิ่งทำให้ตอกย้ำว่าคนเราไม่ได้วัดที่การศึกษา มันเป็นอุปสรรคเชิงโครงสร้างที่คนเราขาดโอกาสที่จะเข้ามาใช้ทรัพยากรในสังคมหรือทำให้เรามีโอกาสในการรับข้อมูลข่าวสาร สิ่งที่เห็นชัดๆ คือมนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ด้วยการเห็นคุณค่าของตัวเอง ทุกคนมีความพยายาม ผมเองลงไปทำงานร่วมกันกับครอบครัวที่คนในชุมชนประณามว่าเป็นคนไม่ดี ติดเหล้าทำร้ายทุบตีครอบครัว ไม่สามารถที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นได้ แต่เมื่อเข้าไปทำงานแล้ว ทำให้เขาให้คุณค่า มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ต่างไปจากเรา เขาก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้”
คุณจะเด็ดให้ความสำคัญและมองว่า ภาคประชาสังคมเป็นปัจจัยที่สำคัญ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องพยายามที่จะทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการพัฒนามากขึ้น มีทรัพยากรที่คนทุกคนมีโอกาสเข้าถึง สร้างกองทุนขึ้นมา และนำกองทุนนี้จะเป็นเครื่องมือที่ภาคประชาสังคมสามารถนำมาใช้พัฒนาสังคมได้
“ถ้ามีกองทุนภาคประชาสังคมเกิดขึ้น ต้องเกิดมาจากการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนจริงๆ ควรเป็นองค์กรอิสระ ที่มีอำนาจการตัดสินใจในการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ และบริหารจัดการที่มีความโปร่งใส ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเข้าถึงกองทุนได้”
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : www4.thaihealth.or.th, www.komchadluek.net