กองทุนภาคประชาสังคม

เที่ยวชุมชน โดยชุมชน “ชูวิช พานิชสุโข - กสิณรัช ถังไชย”

การท่องเที่ยวทางธรรมชาติในเมืองไทยมีให้เลือกหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นป่าเขา น้ำตก หรือท้องทะเลสีครามแต่การท่องเที่ยวที่ว่า หากเชื่อมโยงไปถึงการอนุรักษ์และการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ด้วยก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นอีกเท่าตัว

ชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักเพชร ที่เกาะช้าง จ.ตราด เป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาจัดการการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง โดยเน้นการท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติในพื้นที่บ้านเกิดแล้วเชื่อมโยงเข้ากับแนวคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่น นอกจากชาวบ้านจะได้ประโยชน์โดยตรงแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนเรียนรู้และเตรียมตัวต่อสภาวการณ์ที่ความเจริญที่มักจะมาพร้อมๆ กับการท่องเที่ยวกระแสหลักนั้น รุกคืบเข้ามากลืนกินความสงบงามของชุมชน

แม้อาจจะเป็นการท่องเที่ยวทางเลือก แต่หัวเรือหลักอย่าง จู้ - ชูวิช พานิชสุโข ประธานชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักเพชร และ ฟลุ๊ค - กสิณรัช ถังไชย เลขาและประชาสัมพันธ์ชมรมฯ ก็สามารถชักชวนให้ชาวสลักเพชรร่วมเดินสู่เส้นทางการอนุรักษ์ 'ทรัพย์ในดินสินในน้ำ' ในบ้านเกิดของพวกเขาได้อย่างเต็มภาคภูมิ

จู้ – ชูวิช เล่าถึงภาพรวมของการท่องเที่ยวในเกาะช้าง ก่อนที่จะทำท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ว่า “ พอมีคนมาเที่ยวเยอะๆ ชาวบ้านเขาก็ปลูกบังกะโลกัน เอาไว้รองรับนักท่องเที่ยว ต่อมาก็เริ่มมีโรงแรมใหญ่ๆ มาตั้งบนเกาะ ทีนี้มันก็เจริญทั่วเลย บางทีก็มีนายทุนมากว้านซื้อที่ดิน ชาวบ้านก็ไปอยู่ที่อื่น เราก็เห็นว่าการท่องเที่ยวมันเริ่มรุกคืบเข้ามาในหมู่บ้านของเรา อีกไม่นานเราอาจจะถูกกลืนไปเหมือนกัน ก็เลยชักชวนกันว่าเรามาทำท่องเที่ยวแบบชาวบ้าน ทำอะไรที่เราทำได้กันดีกว่า ที่ว่าไม่ต้องเยอะ ก็คิดทำชมรมท่องเที่ยว เริ่มทำที่หมู่บ้านสลักคอกก่อนด้วยการขายหุ้นให้ชาวบ้านคนละไม่เกิน 100 หุ้น หุ้นละ 100 บาท”

ปีหนึ่งๆ ผ่านไปมันก็ได้ผลนะครับ เพราะที่นี่เขายังไม่โดนการท่องเที่ยวรุกเข้ามา เขามีวิถีชาวบ้านแท้ๆ ชาวบ้านเองก็สนใจมาซื้อหุ้น อพท. เขาก็มาสร้างนั่นสร้างนี่ให้ รายได้เราก็เอามาปันผลกันแล้วแบ่งมา 10 เปอร์เซ็นต์ เอามาปล่อยปูปล่อยปลา 5 เปอร์เซ็นต์ เอามาช่วยเหลือคนแก่กับเด็กอีก 5 เปอร์เซ็นต์ เด็กๆ ในหมู่บ้านก็มาช่วยเก็บขยะ คนแก่ก็ช่วยกัน ช่วยกันทั้งหมู่บ้านเลย ผมก็ว่ามันดีนะ ผมเลยเอาไปทำที่สลักเพชรบ้าง แต่กับสลักเพชรมันไม่เหมือนกัน คือสลักเพชรเขาทำท่องเที่ยวอยู่แล้ว มีโฮมสเตย์

ฟลุ๊ค - กสิณรัช เล่าว่า สลักเพชรเป็นชุมชนใหญ่ที่สุดในเกาะช้าง เป็นชุมชนแรกในเกาะช้าง พอเป็นชุมขนใหญ่ ลูกหลานก็ไปเรียนข้างนอก พอปิดเทอมก็กลับมา พาเพื่อนมาเที่ยวบ้าน พ่อแม่ก็จะพาไปเล่นน้ำทะเล พาเพื่อนลูกไป พาเพื่อนหลานไป จาก 2-3 คนก็เริ่มมากันหลายๆ คน มันก็คือโฮมสเตย์ดั้งเดิม ก็พัฒนาเป็นโฮมเสตย์ที่รับนักท่องเที่ยวไปเลย เขาทำมาได้ประมาณ 30 กว่าปีแล้ว พอวันหนึ่งเราเข้าไปพูดเรื่องการท่องเที่ยวที่สลักเพชร เขาก็ว่าใครจะเที่ยวกับพวกคุณ ใครเขาจะมาเดินป่า จะมาดูวิถีชาวบ้าน เขาคิดว่าทำโฮมสเตย์แบบเขาน่าจะถูกต้องแล้ว เพราะมีรายได้เข้ามาตลอด ตอนเราไปทำที่สลักเพชรก็เลยยากหน่อย เราก็ไม่ใช่ผู้นำหมู่บ้าน เราเป็นแค่เด็กวัยรุ่นที่เขาไปแล้วชวนเขาทำอย่างนี้ๆ

“เหมือนกับเราชอบเที่ยว ชอบอนุรักษ์น่ะครับ สมมติถ้าเราชอบเที่ยวป่า เราไปกันเองก็ไม่เท่าไหร่ แต่วันหนึ่งถ้านักท่องเที่ยวเข้ามา คือถ้าเราไม่เตรียมตัวที่จะรองรับหรือไม่ปรับปรุงตัวเอง ก็เท่ากับปล่อยให้ใครไม่รู้เข้ามาแล้วก็มาชิงเอาตรงนี้ไป เราก็จะเป็นได้แค่ลูกหาบ ลูกจ้าง หรือมาขายของไปวันๆ แต่ถ้าเรารวมตัวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอนุรักษ์หรือเรื่องท่องเที่ยวก็แล้วแต่ ถ้ารวมตัวได้มันจะจบปัญหาทุกอย่างเลย เช่น จุดมุ่งหมายของเราคือ เราอยากดึงพรานป่าดั้งเดิมให้ปรับบทบาทใหม่ ในระบบเดิมๆ เลย ถ้าเขาทำผิดก็คือแจ้งจับกัน แต่นี่เราจะแจ้งจับได้ไงก็คนกันเองทั้งนั้น แล้วเขาก็ไม่ได้เรียนหนังสืออะไร เขามีวิถีชีวิตอยู่กับตรงนี้มาตั้งแต่เขาเกิด แล้วอยู่ดีๆ ไปแจ้งจับกันผมว่ามันไม่ใช่ แต่ถ้าเราคิดที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนิดหน่อย เอาความถนัดของเขามาใช้ร่วมกับตรงนี้ มาเป็นไกด์พาเดินป่าดูนก มันก็น่าจะโอเค”

โดยมีการออกแบบเส้นทางเดินไว้ ซึ่งเราจะใช้เส้นทางเดียวในการเดิน แต่ทำเป็นสองทริป คือทริปไปเช้าเย็นกลับและทริปค้างแรมในป่า 1 คืน และเราจะไม่มีบริการลูกหาบ เอามาเท่าไหร่แบกเองแต่ เราช่วยเหลือได้ คืออยากให้เขาได้ซึมซับวิถีชีวิตจริงๆ เราไม่ได้มีอาหารหรูๆ เราไม่ได้มีปรุงอาหารบนนั้น ไม่มีอะไรเลย เชือกสักเส้นก็ไม่มี คือให้อยู่กับธรรมชาติให้ได้

กิจกรรมนี้เชื่อมโยงไปสู่การอนุรักษ์ได้อย่างไรบ้าง ทั้งสองคนเล่าว่า  อย่างเช่นการเดินป่า เราก็ดึงพรานเก่ามาเป็นไกด์ เขาก็จะได้รายได้จากนักท่องเที่ยวแทนที่จะเข้าไปหาของป่าเหมือนแต่ก่อน และเส้นทางเดินป่าของเรา เราจะไม่มีการตัดไม้ ไม่มีคนยิงนก อย่างน้อยก็ในจุดที่เราเดิน แล้วในกลุ่มเราก็ยังช่วยกันปลูกป่าด้วย แล้วก็ช่วยกันดูแลทรัพยากร และถ้าเส้นทางเดิมมันเริ่มโทรมเราก็จะเบี่ยงออกไปนิดหน่อย เพื่อให้ป่ามันฟื้นตัว เราจะไม่เฉาะทำขั้นบันไดให้เดินง่าย ไม่มีเชือก ไม่ตัดทางให้โล่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ทางมันชัดเจนจนวันหนึ่งก็มีใครคนอื่นมาเดิน พอมาเดินปุ๊บเจ้าหน้าที่ก็จะเข้ามาตั้งตู้เก็บเงิน พอมีตู้ ทีนี้ชาวบ้านก็ไม่ได้อะไรแล้ว และถ้าเราไม่ดูแลต่อไปก็จะมีขยะเต็มไปหมด เอาธรรมชาติของเรามาเป็นตัวคัดกรองนักท่องเที่ยวเลย ถ้าคุณไม่ไหวก็บอกเรา ก็คือไม่ไหวไม่ต้องมาแล้วกัน คือเราไม่ใช่หน่วยงานหรือชมรมที่ตั้งมาเพื่อรับเงินหรือทำธุรกิจ แต่เราหวังว่าให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสกับธรรมชาติ รู้และเข้าใจให้ได้ และชาวบ้านเขาก็ได้ผลตอบแทน มันเกิดการอนุรักษ์ด้วยได้ประโยชน์ด้วย ไม่ใช่ว่าอนุรักษ์แล้วไม่ได้ประโยชน์

การตอบรับการท่องเที่ยวลักษณะนี้เป็นอย่างไร...ฟลุ๊ค – กสิณรัช  บอกว่า “ถ้าจะทำให้มันบูมขึ้นมา ก็บูมได้นะ แต่กลุ่มผมอาจจะคิดไม่เหมือนคนอื่น ถ้ากลุ่มเราทำตลาดให้บูมขึ้นมา และชาวบ้านเห็นว่าได้เงินดี เราก็จะเป็นองค์กรที่แสวงหาผลกำไรอย่างเดียวเลย ไม่ได้เอาเงินมาสู่ชุมชน คือผมอยากให้ทุกคนหันมามองแนวคิดเดียวกันก่อนแล้วเราค่อยเดินไปด้วยกัน ที่คิดจะทำต่อคือกิจกรรมช่วงกลางคืน พาไปส่องปู กุ้ง ไปกับเรือเล็ก ก็คือชาวบ้านเขาไปหากินนั่นแหละครับ แต่เราพ่วงการท่องเที่ยวไปด้วย”

“มันก็เหมือนพาไปดูวิถีชีวิตของชาวบ้าน มันก็ดี เพราะชาวบ้านเองก็ได้รายได้เพิ่มขึ้น แทนที่เขาจะไปจับปูให้ได้ 5 กิโลต่อคืน แต่ทีนี้เขาได้รายได้จากนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่ง เขาก็ไม่ต้องจับถึง 5 กิโล อาจจะจับแค่นิดๆ หน่อยๆ ทรัพยากรในทะเลมันก็ยังเหลือ นักท่องเที่ยวก็จะได้เห็นว่ากว่าจะจับกุ้งจับปูได้สัก 1 กิโล ลำบากนะ ให้เขาลองดู ไปๆ มาๆ เวลาเขาซื้อกุ้งกับเราเขาจะไม่ต่อราคาเลย” จู้ – ชูวิช บอกต่อ

ในฐานะที่ชอบเดินป่าและเที่ยวอุทยานมาหลายแห่ง มองว่าควรพัฒนาไปในทิศทางไหน ทั้งสองคนให้ความเห็นว่า  อยากให้ให้คนพื้นที่เป็นคนจัดการกับทรัพยากรตรงนั้น แล้วเจ้าหน้าที่อาจจะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่เข้ามาทำแล้วสั่งชาวบ้านให้ทำตาม ผมว่ามันไม่ใช่ เพราะเมื่อก่อนตอนลำบาก ตอนที่ไม่มีถนน ไม่มีไฟฟ้า เขาอยู่ไหน แต่เราอยู่กันเอง เขามาบอกว่าคนเกาะช้างทำลายป่า ขณะที่ในเมืองเขาไม่ได้ทำลายเหรอ แต่ต้นไม้หายไปไหนหมด บางทีผมสร้างบ้านต้นไม้ก็มาหาว่าเราตัดไม้ ทำไมไม่ใช้ปูน แต่เขาก็ลืมคิดว่ากว่าจะได้ปูนมาหนึ่งกระสอบ เขาต้องตัดไม้ไปกี่ต้น ขุดดินลงไปเท่าไหร่ ใช้ค่าขนส่งเท่าไหร่ มันก็ต่างกันนะ บางคนเดินป่ากับผมแค่ 2 วัน โห.. รักป่ามากเลย ไม่กล้าเหยียบต้นไม้สักต้น ไม่กล้าหักกิ่งไม้เลย อันนี้มันก็เกินไป

บางทีมันเหมือนว่าเราถูกสอนให้รักป่ากันแบบว่า... คือการอนุรักษ์ไม่ได้แปลว่าห้ามใช้ครับ แต่ว่าใช้ยังไงให้มันคุ้มค่า อย่าให้มันหมด แค่นั้นเอง

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก :      เที่ยวชุมชน โดยชุมชน 'ชูวิช พานิชสุโข - กสิณรัช ถังไชย'

กรุงเทพธุรกิจ, 8 มิถุนายน 2556

Tag


powered by CIVIL SOCIETY EMPOWERMENT INSTITUTE