เรื่องราวชีวิตของคนทำงานพัฒนาเอกชนของ “บรรจง นะแส” ผู้ประสานงานโครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยองค์กรชุมชน ภาคใต้และโครงการสนับสนุนการดำเนินงานและการบริหารจัดการโครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยองค์กรชุมชน ภาคใต้
“คนที่ไม่สามารถมองข้ามความทุกข์ยากของคนในสังคม โดยเฉพาะความไม่เป็นธรรมที่ถูกหยิบยื่นให้กับชาวบ้านตาดำๆต้องเข้ามาแบกรับผลกรรมเหล่านั้น จะต้องปลุกให้เขาลุกขึ้นมาต่อสู้กับมนต์ดำที่เข้ามาครอบงำ โดยใช้กระบวนการยุติธรรมที่บ้านเมืองของเรามีอยู่เป็นตัวขับเคลื่อนหรือขจัดความเลวร้ายให้พ้นไปจากสังคม”
แม้ตัวตนของเขาเองคิดที่จะทำไร่ทำนามากกว่า แต่การเรียนจบสูงๆ สำหรับคนชนบทสมัยก่อนสำคัญมาก จะให้กลับไปทำอย่างนั้นเป็นการยาก พ่อแม่ต้องไม่ยอม เพราะลูกชาวสวนชาวนาการที่ส่งให้ลูกเรียนหนังสือ เพื่อต้องการให้ลูกได้ทำงานสบาย ดังที่ว่า เรียนจบแล้วจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ที่ถูกปลูกฝังกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และเขามองว่านั้นคือความเชื่อที่ผิดๆของชาวบ้าน
ทุกวันนี้ครอบครัวของเขามองไปในทิศทางเดียวกันว่า วิถีชีวิตชนบท คือเนื้อหาของชีวิตที่แท้จริงที่จะพึ่งตนเองได้ในอนาคต ซึ่งครอบครัวจะต้องซึมซับเอาไว้ ทั้งตัวเขาเองที่เรียนจบปริญญาโท ภรรยา ที่จบ ดร.ซึ่งเป็นอาจารย์ พร้อมลูกๆที่กำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ในวันหยุดจะกลับไปทำสวนทำนา เลี้ยงสัตว์ ร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะเวลาของครอบครัวก็คือ วิถีชีวิต นั่นเอง
บรรจง นะแส สายเลือดเกษตรกรชาวตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ชีวิตที่เลือกเองของเขา เริ่มต้นเมื่อตอนสมัยเรียนเขาเป็นเด็กกิจกรรมมาก่อน พอสนใจกิจกรรมก็เริ่มสนใจนอกห้องเรียนมากขึ้น ซึ่งตั้งแต่มัธยมต้นก็มีเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และพอมัธยมปลายก็มีเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 บ่มเพาะความสนใจการเมืองให้กับเขา และสิ่งที่เขาได้เรียนที่สำคัญที่สุดกับชีวิตคือเหตุการณ์นี้เอง เป็นเหตุการณ์ที่ทำลายความชอบธรรมในสังคมที่ยิ่งใหญ่มาก ซึ่งในประวัติศาสตร์ไทยมีไม่กี่ครั้งสำหรับเหตุการณ์สำคัญๆ เช่นนี้ ทำให้เขาเรียนรู้ข้อเท็จจริงของสังคม ว่าอย่างน้อยมันเป็นไปได้ สำหรับการเปลี่ยนแปลงถ้าเกิดความไม่ยุติธรรมในสังคม ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมันอาจจะเกิดขึ้นได้อีก นั่นคือการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่สมัยนั้น หากมองความคิดชาวบ้าน เขาจะคิดว่าหากต้องมาเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะรัฐนั้น อยู่นอกเหนือความคิดของชาวบ้านมาก
คุณบรรจง จบการศึกษา รัฐประศาสนาศาสตร์บัณฑิต (การปกครองท้องถิ่น) จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ปี 2524 วิทยาศาสตร์ มหาบัณฑิต (การจัดการสิ่งแวดล้อม) จากคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ปี 2541
ส่วนประวัติการทำงานของเขาเป็นเจ้าหน้าที่สนามโครงการพัฒนาชุมชนประมงบ้านปากบางนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา (2528-2539) ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาชุมชนประมงขนาดเล็ก จ.สงขลา (มูลนิธิส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาชุมชน) (2539-2547) ผู้อำนวยการโครงการการจัดการทรัพยากรชายฝั่งภาคใต้ (มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัจจุบัน ผู้ประสานงานโครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยองค์กรชุมชน ภาคใต้และโครงการสนับสนุนการดำเนินงานและการบริหารจัดการโครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยองค์กรชุมชน ภาคใต้
ในด้านประสบการณ์การทำงาน ประธานชมรมเพื่อนร่วมพัฒนาชุมชนภาคใต้ (2526) ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) 2532-2534) คณะกรรมการบริหารโครงการความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ปี 2540-ปัจจุบัน) คณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาสตรีผู้ใช้แรงงานใน จ.สงขลา (2539-ปัจจุบัน) ทำงานด้านพัฒนาด้านพัฒนาชนบทโดยเฉพาะกับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านมาตั้งแต่ ปี 2524 อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันทำให้เห็นปัญหาของการประกอบอาชีพ การเสียสิทธิ์ เสียโอกาส ตลอดถึงการถูกละเมิดสิทธิของกลุ่มเกษตรที่เป็นประมงพื้นบ้านตลอด 2 ชายฝั่งในพื้นที่ 13 จังหวัดในภาคใต้เป็นอย่างดี มีความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติโดยเฉพาะพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการประมงปี 2490 ตลอดถึงประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประมงที่ส่งผลต่อการทำลายทรัพยากรพันธุ์สัตว์น้ำและทรัพยากรชายฝั่ง และการละเมิดสิทธิของการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ฯลฯ
สำหรับชีวิตครอบครัวของเขามีภรรยาชื่อนางทัศนีย์ นะแส อาจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา มีบุตร 2 คน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ทุกคนในครอบครัวของเขาต่างมีมุมมองของชีวิตไปในทิศทางเดียวกัน และทุกคนก็เข้าใจถึงบทบาทของตัวเองเป็นอย่างดี และเข้าใจตรงกันคำว่า เวลาของครอบครัว ที่ครอบครัวของเขาให้ความจำกัดความว่านั่นคือ วิถีชีวิต ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเวลาของครอบครัวจะต้องอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาในวันหยุด และต้องออกไปเที่ยวไปกินข้าวนอกบ้าน เขาบอกว่านี้เป็นวิธีคิดของคนชั้นกลางเท่านั้น ยกตัวอย่าง ชาวสวน ชาวนา เขาจะมีเวลาครอบครัวที่ไหน เช้าต้องออกไปทำสวนทำนา ที่เป็นเนื้อเดียวกับวิถีผลิต
ฉะนั้นวิถีชีวิตครอบครัว คือเข้าใจเป้าหมายในการใช้ชีวิตร่วมกันว่าคืออะไร สำหรับตัวของเขาเองก่อนที่จะตัดสินใจใช้ชีวิตคู่กับอาจารย์ทัศนีย์ ได้ทำความเข้าใจและลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขว่า เราต้องอยู่ในหมู่บ้าน ต้องการให้ลูกๆโตขึ้นได้ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตในชนบท แม้ว่าขณะนี่ลูกๆของเขากำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย เมื่อไหร่มีโอกาสก็จะให้ลูกกลับไปช่วยคุณย่าทำนา ทำสวน เลี้ยงไก่ เป็นต้น เพราะเห็นว่า นี่คือเนื้อหาของชีวิตที่แท้จริง เป็นการเรียนรู้ชีวิตจริง และนี่คือความมั่นคงที่แท้จริง ที่จะพึ่งตัวเองได้ในอนาคต เมื่อไหร่ที่ล้มเหลวจากการศึกษา หรือไม่ชอบที่จะไปเป็นลูกจ้างของใคร เราก็สามารถที่จะพึ่งตนเองได้ เพียงเรารักษาทรัพย์สมบัติของบรรพบุรุษเอาไว้ให้สมบูรณ์มากที่สุด เมื่อไหร่ทุกคนดูถูกในเรื่องเหล่านี้ นั่นคือ อันตรายที่จะเกิดขึ้นในชีวิต
“พัฒนาการทางสังคมในทุกวันนี้ มุ่งเน้นไปที่ด้านเทคโนโลยี สักวันหนึ่งสังคมจะเริ่มมองเห็น เมื่อเกิดวิกฤตธรรมชาติ เกิดวิกฤตพลังงาน ก็จะเกิดคำถามขึ้น และเมื่อถึงเวลานั้นทุกอย่างก็จะกลับไปสู่รากง้าวโดยธรรมชาติ หากเรารักษาสิ่งแวดล้อมเอาไว้ให้ดี”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์ สมิหลา ไทมส์ ฉบับที่ 319 วันที่ 14 - 20 มิถุนายน 2551,
http://www.siamsouth.com/
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : www.bangkokbiznews.com, songkhlatoday.com, www.tnews.co.th