กองทุนภาคประชาสังคม

เมื่อนักเลง กลายเป็นนักบุญ “ครูหยุย” วัลลภ ตังคณานุรักษ์

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือที่หลายๆคนเรียกว่า ครูหยุย คนธรรมดาคนหนึ่งที่อุทิศตนเพื่อสังคม จนเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงโด่งดัง ว่าเป็นผู้ที่ร่ำรวยคนหนึ่ง ร่ำรวยในน้ำใจและพร้อมที่จะแบ่งปันให้กับผู้อื่นเสมอ

ภาพการทำงานของครูหยุยที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน จึงแทบไม่อยากเชื่อเลยว่า อดีตของครูหยุย มีมุมหนึ่งที่เป็นอันธพาล

“ผมเคยเป็นเด็กอันธพาล เป็นนักเลงหัวไม้ สร้างปัญหาให้สังคม มาก่อนแล้ว" นี่คือคำสารภาพของครูหยุย โดยได้ย้อนชีวิตช่วงเป็นวัยรุ่นว่า ช่วงเป็นวัยรุ่น มีการยกพวกตีกัน ไล่แทงกันอยู่ทุกวัน แม้ว่าตัวเองจะตัวเล็ก แต่ใจมันสู้ ก็เลยคว้าอะไรได้ก็ตะลุยกันแบบไม่คิดชีวิต อาวุธที่ใช้ติดตัวก็จะมีปืนปากกา ติดตัวไว้เป็นประจำ เป็นเรื่องแปลกมาก ที่ยิงใส่ใครก็ไม่ถูก เรียกว่า ทำบาปไม่ขึ้น ไม่เช่นนั้นป่านนี้ก็คงติดคุก ไม่ได้มาเป็น ส.ว.แน่ เรียกได้ว่า ชีวิตผกผัน ไม่เช่นนั้นก็เป็นอันธพาลครองเมืองไปแล้ว

ระหว่างเรียนอยู่ที่ จ.สุรินทร์ จะรู้สมญานามว่า เราเป็นเด็กเกเร อย่างมาก ไม่ชอบขี้หน้าใครก็มีการตีแทบทุกคืน กลับบ้านทุกวันจะต้องเจอพ่อแม่ เตรียมไม้เรียวเอาไว้ตีเป็นประจำ ตีกันทุกวันชีวิตก็แคล้วคลาดมาได้อย่างหวุดหวิด  มีครั้งเดียวที่เรียกว่าหนักมาก ก็ตอนโดนหนังสะติกยิงเข้าที่หัว เลือดออกเท่านั้นเอง ถึงแม้ว่าเราจะรอด แต่มีเพื่อนๆ ตายไป 3-4 คน เพื่อนคนที่โดนมีดพกสปาร์ต้าแทง  เมื่อไปร่วมงานศพเพื่อน ต้องสะอึก เพราะพ่อเพื่อนเขาทำเจดีย์แล้ว เอามีดสปาร์ต้าเสียบไว้บนเจดีย์ หลังจากถามถึงการเสียบมีดสปาร์ต้าก็รู้ว่า พ่อเพื่อน อยากเตือนวัยรุ่นถึงความตาย ด้วยวัยคะนองช่วงนั้น จึงไม่กลัวตาย คำว่า กฎแห่งกรรม ก็ไม่ได้คิด มีแต่ความแค้น  เชื่อไหมว่า นิ้วมือทุกนิ้วจะมีแขวนหลวงพ่อต่างๆ ที่เชื่อว่าจะ ช่วยเราได้ อย่างน้อยชกคนก็ทำให้พวกนั้นเจ็บได้เหมือนกัน

พอโตขึ้น ความคิดก็เปลี่ยนไป จึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องแขวนพระ ทุกวันก่อนไปทำงาน จะต้องไหว้พระพุทธรูปเป็นประจำ สำหรับนิสัยที่เปลี่ยนไปนั้น ครูยหยุย บอกว่า หลังจากสอบเข้าเป็นนิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เมื่อประมาณปี 2516 ได้ร่วมกันเปิด ไฮปาร์คการเมือง เรื่องปัญหาคนจนทางภาคอีสาน ตั้งแต่นั้นมา ก็สนใจการเมือง ประกอบกับได้ร่วมออกค่ายกับมูลนิธิเด็ก ทำให้ความคิดและมุมมองโตขึ้น จึงเลิกตีกัน อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้นิสัยเปลี่ยนไป น่าจะมาจากการเล่นกีฬา

ครูหยุย เล่าถึงการก่อตั้ง “มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก” ว่า เริ่มจากไม่มีเงินเลย วันหนึ่ง ครูเข้ามาบอกว่า ข้าวหมด ทำให้เราใจเสีย ตอบกลับไปว่า ไม่เป็นไร พรุ่งนี้ก็มีแล้ว

เมื่อเดินออกจากมูลนิธิไป ก็คิดในใจว่า จะมีใครมาช่วยเด็กให้มีข้าวกินได้บ้าง จึงตั้งจิตอธิษฐาน เชื่อไหมว่า เช้าวันต่อมา มีรถสิบล้อขนข้าวสารเต็มรถ มาที่มูลนิธิ คิดว่าเป็นความรู้สึกที่ไปถึงคนอื่นได้

ครั้งแรกมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กตั้งอยู่ในซอยหนังสือพิมพ์บ้านเมือง เหมือนมีปาฏิหาริย์ อีกครั้ง เมื่อปี 2530 มีโทรศัพท์จากสถานทูตไทย รัฐมนตรีจาก ประเทศนอร์เวย์ จะขอแวะดูงานมูลนิธิ ก่อนเดินทางกลับ

เมื่อเขามาเห็นก็ปรารภว่า ทำไมถึงโทรมอย่างนี้ จึงได้เซ็นเช็คให้ 1 ล้านบาท เพื่อนำไปสร้างบ้าน แต่เงินดังกล่าวซื้อที่ดินได้ 1 ไร่ 21 ตารางวา แต่ไม่มีเงินปลูกบ้าน ให้เด็ก บังเอิญว่ามีผู้หญิงแก่คนหนึ่งบินมาจากฮ่องกง โดยอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ได้ให้เงินถมที่ดิน ความเชื่อใน เรื่องไสยศาสตร์หญิงชราคนนี้ จึงได้ตั้งศาลเจ้าที่

หนึ่งสัปดาห์ต่อมา มีเรื่องแปลกเกิดขึ้นอีก มีอาสาสมัครจากประเทศญี่ปุ่นโทรศัพท์มาบอกว่า องค์กรมีเงินเหลือที่จะช่วย แต่มีข้อแม้ว่า เงินจำนวนนี้จะต้องสร้างตึกเท่านั้น พอสร้างเสร็จพอดี "ปุ๋ย" ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ก็มาบอกว่า มีเงินเหลืออยู่ ๑ ก้อน ทำให้สร้างอาคารของมูลนิธิเสร็จราวปาฏิหาริย์

ส่วนความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์นั้น ครูหยุยบอกว่า พ่อเป็นคนจีนที่มีความรู้ ในเรื่องนี้ จนคนใน จ.สุรินทร์ เรียก ซินแซ เชียงงวด พ่อจึงจะดูดวงของลูกๆ ทุกคนไว้หมด ลูกคนไหนดวงชง ก็จะพาไปบริจาคโลงศพ บางครั้งพ่อก็มีอะไรไม่รู้มาลูบหลัง พ่อจะพูดให้ฟังเสมอว่า “ชีวิตเราฟ้าได้กำหนดแล้ว ไม่ต้องไปดิ้นรนอะไรมาก มานั่งคิดก็น่าจะเป็นจริง เพราะใครจะคิดว่า วันหนึ่งจะได้มาดูแลมูลนิธิแบบนี้ และผมเชื่อว่า เราจะทำอะไรก็ตาม เราต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด อยากทำอะไรก็ทำ ขอเพียงอย่างเดียว ''อย่าทำชั่วก็แล้วกัน” ครูหยุย กล่าวทิ้งท้าย

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :               http://board.palungjit.org/

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : http://ppvoice.thainhf.org, www.kruwandee.com, www.gotoknow.org

Tag


powered by CIVIL SOCIETY EMPOWERMENT INSTITUTE