หากจะสรรหาสตรีผู้มีความสามารถในสาขาอาชีพต่างๆ อันเป็นแบบอย่างที่ดี สุธาสินี น้อยอินทร์ หรือ “แม่ติ๋ว” ของเด็กๆ บ้านโฮมฮัก น่าจะเป็นผู้หญิงเก่งคนหนึ่งที่สังคมควรนำมาเป็นต้นแบบ ตลอด 23 ปีที่เธอดูแลเด็กๆ กว่าร้อยชีวิตมาอย่างเงียบๆ แม่ติ๋วได้สร้างโอกาสและ ช่วยบรรเทาความทุกข์ของสมาชิกที่เธอเรียกว่า “ลูก” อย่างไม่มีเงื่อนไข
“อยากจะบอกว่าตัวเองไม่ใช่คนดี และรู้สึกละอายใจทุกครั้งที่ถูกมองว่าเป็นคนดี ที่สำคัญ สิ่งที่ตนเองทำนั้นมันไม่ใช่งาน แต่เป็นวิถีของชีวิตที่มีทั้งรัก ไม่รัก มีการให้ มีแบ่งปัน มีอภัย มีให้โอกาส แต่สิ่งเหล่านั้นมันได้หลอมให้คนหลายๆ คนมาอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งมันเป็นการรับผิดชอบต่อชาติ ต่อแผ่นดิน ในการที่มนุษย์ได้ดูแลรับใช้คนที่ยากลำบากกว่า”
“การศึกษาสอนให้คนเรียนเพื่อไปดูแลรับใช้ เรียนเพื่อรู้ แล้วนำไปใช้ประโยชน์ต่อคนยากจน ต่อคนที่ไม่รู้ คนที่เจ็บป่วยจากปัญหาและภาระ เราเองก็ทำตามคำสอนของพ่อมาตลอด แต่สิ่งที่ค้นพบคือ ความสุขอยู่ไม่ไกลจากเราเลย ไม่ต้องไปแสวงหาในที่ใด เพียงรู้จักให้และแบ่งปัน เราจะเห็นความสุขในดวงตาของผู้รับ และความสุขนั้นมันส่งผลสะท้อนในหัวใจของผู้ให้มากกว่า ผู้ได้รับเสียอีก” น้ำเสียงอบอุ่นสะท้อนถึงความสุขอย่างเต็มเปี่ยม
จากแรงบันดาลใจซึ่งเป็นพลังแฝงที่มีอำนาจ มีเรี่ยวแรง ในการกำหนดบทบาท กำหนดชีวิตให้คน คนหนึ่ง หรือหลายๆ คนกระทำในสิ่งที่ตั้งใจด้วยความมุ่งมั่นและเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข โดยปราศจากข้อกังขาและเงื่อนไขใดๆ จึงส่งผลให้ผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อเด็กๆ มายาวนานกว่า 20 ปี ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้หญิงเก่งและแกร่ง ทว่าเธอกลับปฏิเสธที่จะรับคำชื่นชมเหล่านี้
“จริงๆ ติ๋วไม่ใช่ผู้หญิงเก่ง ผู้หญิงเก่งยังมีอีกมากมายที่อยู่ในสังคมไทย แต่ติ๋วยอมรับอย่างหนึ่งว่า สิ่งที่ทำมันทำให้ติ๋วมีความสุข ทำให้มีพลังชีวิต มีพลังใจ สิ่งสำคัญที่ติ๋วทำมันเป็นตัวชี้วัดถึงความรัก ชาติ ความรักแผ่นดิน ความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้าเราเป็นคนรักชาติ ต้องหันกลับมาช่วยดูแลเด็กที่เป็นอนาคตของชาติ เหมือนเราได้นำธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา นำพาประเทศชาติ อวดอารยชนได้ ด้วยความเชื่อตรงนั้น ทำให้ติ๋วมีความมุ่งมั่นที่จะหล่อหลอมเด็กๆ ให้เติบโตเป็นคนดีของสังคม”
เช่นเดียวกับสิ่งที่หล่อหลอมให้ ด.ญ.สุธาสินี เติบโตกลายเป็นแม่ติ๋วเฉกเช่นทุกวันนี้ ล้วนมาจากครอบครัวและคำสอนของคุณพ่อโดยตรง ในวัยเรียนเธอมุ่งมั่นที่จะทำกิจกรรม ตั้งแต่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทั้งยังมีความฝันและหวังอยากจะทำอะไรให้คนในชนบท
“คุณพ่อสอนเสมอว่า การศึกษาต้องไปรับใช้คนอื่น แล้วติ๋วก็เอาคำสอนของพ่อตรงนี้ไปสอนลูกๆ ในบ้านโฮมฮัก รับรู้ด้วยว่า เวลาเราเรียนจบปริญญาตรีอย่าอวดเก่ง อย่าทะนงตน อย่าจองหอง อย่าเย่อหยิ่ง แต่จงภาคภูมิใจว่าเราจบปริญญาตรีมาได้ เป็นเพราะว่าเรามีวิริยอุตสาหะ เพราะฉะนั้น เราต้องเอาความรู้ ประสบการณ์ที่เราเรียนมา มาใช้กับน้องๆ เป็นสิ่งที่ติ๋วสอนให้กับเด็กๆ ซึ่งก็เป็นคำสอนจากพ่อที่เคยสอนเรามาทั้งหมด”
หากนับย้อนกลับไปในปี 2532 แม่ติ๋ว-สุธาสินี ได้ริเริ่มโครงการเพื่อเด็กและเยาวชนเป็นครั้งแรกที่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร โดยเริ่มงานด้านยาเสพติดในชุมชน จากนั้นขยายงานออกเป็น 4 แขนง ประกอบ ด้วยงานชุมชน, งานโรงเรียน, งานเอดส์ และงานบ้านพักโฮมฮัก กระทั่งปี 2542 ได้จดทะเบียนเป็น มูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “บ้านโฮมฮัก”
ปัจจุบันบ้านโฮมฮักมีเด็กอยู่ 117 คน โดยแยกออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือเด็กกำพร้า ที่ติดเชื้อเอดส์จากพ่อแม่ ซึ่งหลายคนที่ได้เห็นเด็กๆ แล้วอาจไม่เชื่อว่าเขาป่วย เพราะทุกคนดูสดใส ร่าเริง พวกเขาโตได้ ไม่ได้นอนรอความตายหรือมีตุ่มเต็มตัวอย่างที่หลายคนเข้าใจ กลุ่มที่สอง คือเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นเด็กที่บาดเจ็บทางใจและมาด้วยหัวใจอันแตกสลาย พร้อมกับร่างกายที่บอบช้ำจากการกระทำที่ทารุณของผู้ใหญ่ ส่วนกลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่พ่อแม่เสียชีวิต เร็วทำให้เด็กต้องกำพร้า
ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ติ๋วกับเด็กๆ กลายเป็นพันธกิจที่ยาวนาน จนหลายคนเป็นห่วงว่า หากวันหนึ่งเมื่อบ้านขาดผู้นำ เด็กๆ เหล่านั้นจะอยู่กันอย่างไร ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนแม่พระผู้นี้ คงวิตกกังวลอย่างหนัก แต่ ณ วันนี้ เธอวางแผนงานและบริหารจัดการภายในบ้าน พร้อมทั้งแบ่งงาน ให้ลูกๆ ช่วยกันรับผิดชอบอย่างลงตัว
“วันนี้ความเป็นห่วงความกังวลของติ๋วลดลง เพราะได้ยกทรัพย์สินทั้งหมดให้กับเสถียรธรรมสถาน แล้วกรรมการที่เข้ามาทั้งหมดชุดนี้เป็นกรรมการที่เข้ามาช่วยกันระดมทุน เข้ามาช่วยในเรื่องของ การเงินการบัญชี โดยมี ยายตุ่ม-สายสัมพันธ์ ปัญญศิริ เป็นประธานมูลนิธิน้อยอินทร์ เพื่อเด็กและ เยาวชน ซึ่งเป็นน้องสาวของแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต
“ไม่มีเรื่องอะไรที่ติ๋วต้องกังวลอีกแล้ว ถ้าติ๋วต้องจบชีวิตลงในวันนี้ ติ๋วจะไม่เสียใจเลย เพราะสิ่งที่ได้ทำ เป็นการทำด้วยความตั้งใจ ทุ่มเทให้กับงานทุกๆ วัน ส่วนลูกรุ่นโต ก็โตเรียนจบปริญญาตรีถึง 12 คน จากระยะเวลา 23 ปี โดยเขาได้กลับมารับใช้ชาติ รับใช้แผ่นดิน และได้กลับมาเป็นแม่ของน้องๆ ในบ้านโฮมฮัก จริงๆ เขาไม่ได้กตัญญูกับติ๋ว แต่เขากตัญญูต่อแผ่นดิน” เธอกล่าวถึงความสำเร็จของ บรรดาลูกๆ ด้วยน้ำเสียงแห่งความภาคภูมิใจ
เพราะความสำเร็จในมุมมองของแม่ติ๋ว คือการได้โอบกอดเด็กๆ อย่างเต็มหัวใจ และทำให้รู้ว่าบ้านหลังนี้ได้ให้ความสุขกับเด็ก ซึ่งเป็นความสำเร็จที่มีผู้คนในสังคมมากมายพร้อม จะเปิดที่ยืนให้กับเด็กเหล่านี้ “ความสำเร็จจึงไม่ได้อยู่ที่มีบ้านหลังใหญ่ มีรถขับ หรือต้องได้เหรียญเกียรติยศ แต่ความสำเร็จอยู่ที่หัวใจเบิกบานในสิ่งที่ทำนั่นเอง” แม่ติ๋วกล่าวย้ำ
นับเป็นความสุขของแม่ติ๋วที่ได้ดูแลเด็กที่เหมือนเป็นลูกแท้ๆ ของตัวเอง แม้ว่าเจ้าตัวจะต้องต่อสู้กับ โรคมะเร็งมาเกือบ 10 ปีก็ตาม
“ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาก็ต้องรบกับสงครามโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกิน ไปโรงเรียน หรือไปโรงพยาบาล เวลาหมดไปกับการดูแลเด็กๆ พอตกเย็นเราก็เจอสงครามอีกครั้งหนึ่ง ก็เลยลืมวันลืมคืน ลืมปีของความเจ็บป่วย แล้วติ๋วก็พบว่า เมื่อไหร่ที่เราไม่รอ เราไม่นั่งจมปลัก เราไม่นอน แล้วไม่สิ้นหวังท้อแท้ ก็คือความพร้อมของจิตใจ ที่ทำให้เราก้าวไปเรื่อยๆ แล้วรู้สึกว่ามันไม่นาน สี่ทุ่มแล้ว เอ๊ะเช้าแล้ว ดีทอกซ์โล่งท้อง เลยทำให้เดินข้ามผ่าน โรคมะเร็งนี้มาได้ประมาณกว่า 9 ปีแล้ว”
เพราะมะเร็งเปรียบเสมือนเพื่อนสนิทในร่างกาย แม่ติ๋วจึงต้องคอยดูแลเรื่องอาหารการกิน โดยเน้นผักเป็นหลัก ที่สำคัญเป็นผักที่เด็กๆ แห่งบ้านโฮมฮักช่วยกันปลูก เช่นนั้น จึงมีเรื่องที่ทำให้ผู้เป็นแม่อดขำไม่ได้
“แปลงผักไหนที่ติ๋วรับประทานประจำ เด็กๆ ก็จะไปฉี่รด (หัวเราะ) เด็กจะรู้ว่าแปลงผักนี้เป็นของแม่ติ๋ว เขารู้ว่าแม่ติ๋วจะไม่กินผักที่มีสารเคมี นั่นเป็นความปรารถนา ของเด็กๆ ฉะนั้นบ้านเราจะอบอวลไปด้วยความอบอุ่น แม้มีปัญหาทุกวัน แต่เราก็แก้โจทย์ได้ทุกวัน แม้โจทย์ที่เกิดขึ้นจะไม่ซ้ำกันเลย แต่มันก็มีความสุข” เสียงหัวเราะสลับกับรอยยิ้มของแม่ติ๋ว สร้างความสนุกสนานให้รอบ วง
เมื่อโรคร้ายที่ยังหาหนทางรักษาไม่หาย เธอจึงแนะนำผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งแบบเธอว่า
“ขอให้เรียนรู้อยู่กับโรคร้าย รวมไปกับโรคที่เกิดขึ้นกับตัวเรา อย่าคิดว่ามันคือโรคร้าย ที่ผ่านมาสังคมเราไม่รักกันเกิดจากโรคที่เบียดเบียนกัน โรคที่ไม่เอื้ออาทรกัน โรคที่ทอดทิ้งกัน โรคที่ด่าทอ โรคที่ทะเลาะเบาะแว้ง มันคือโรคร้ายที่ทำลายหัวใจคนทุกๆ คนในประเทศชาติ มากกว่าโรคที่เกิดขึ้นกับตัวเรา อย่ากลัวโรคที่เกิดขึ้น โลกนี้ไม่มีใครหนีพ้นความตายไปได้ ทุกคนเกิดมาต้องตาย บางคนเกิดมาไม่ป่วยเลย ชิงตายก่อนหน้าเราเพราะความประมาท จงเผชิญหน้าเรียนรู้ก่อนที่จะตาย แต่ก่อนที่เราจะตายลองถามตัวเองว่าได้ทำอะไรให้คนอื่นมี ความสุขหรือยัง”
เพราะความสุขสามารถทำได้ง่าย และทำได้ทุกเวลา โดยไม่ต้องรอให้ความตายใกล้มาเยือน…
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : “สุธาสินี น้อยอินทร์ แม่พระแห่งบ้านโฮมฮัก 23 ปี ไม่เสียใจหากชีวิตต้องจบ” โดย สุทธิคุณ กองทอง www.oknation.net
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : www.oknation.net