เพราะอาชีพเราเป็นครู ทำให้เห็นความแตกต่างของเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา เด็กเหล่านั้นส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนแออัด จึงอยากให้พวกเขาเป็นคนดี มีความรู้ และสิ่งหนึ่งที่จะพยายามสอดแทรกเสมอ ก็คือเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นคนดีของสังคม
คำถามตัวเองของคนหนุ่มสาวคือชีวิตนี้จะทำอะไร ส่วนคำถามคนวัยเกษียณอาจเป็นเวลาที่เหลืออยู่ควรทำอะไร เวลาในความฝันกับเวลาที่เหลือของคนกลุ่ม ซ.โซ่อาสา ได้มาหลอมรวมกันอย่างลงตัว แล้วสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่า โดยสอนหนังสือให้เด็กในชุมชนแออัด และคนเร่ร่อน จนกลายเป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่ใช้เวลาว่าง ให้เกิดประโยชน์ ในกลุ่มมีอยู่ด้วยกันประมาณ 30 คน แต่ละคนอุทิศเวลาว่างมาสอนหนังสือให้กับเด็กๆ ทั้งด้อยโอกาสทางการศึกษา และเด็กๆ ที่ต้องการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมในวันหยุดเรียนสถานที่สอนของครูกลุ่ม ซ.โซ่อาสาอยู่ที่ชุมชนตึกแดง ย่านบางซื่อ ใต้สะพานอรุณอมรินทร์ ฝั่งธนบุรี และริมคลองหลอด เขตพระนคร
ปัจจุบัน ครูอาสาของกลุ่ม ซ.โซ่อาสา ได้เข้าไปสอนเด็ก ๆ อีกหนึ่งชุมชน คือที่วัดดวงแข หัวลำโพงหัวหน้ากลุ่มคือ นาย ธีระรัตน์ ชูอำนาจ หรือครูปู่ ชาวกรุงเทพมหานคร วัยกว่า 70 ปี เคยสอนหนังสือมากว่า 20 ปี ลาออกไปเป็นพนักงานบริษัท แล้วเกษียณตัวเอง เล่าว่า ชีวิตครูข้างถนนของครูเริ่มเมื่อ พ.ศ.2543 โดยเป็นอาสา สมัครครูข้างถนนของ ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในสมัยนั้นต่อมาเมื่อเปลี่ยนผู้ว่าฯ นโยบายก็เปลี่ยน ครูปู่จึงหันมาตั้งกลุ่มครู ซ.โซ่อาสา หวังให้เป็นโซ่แห่งความรัก ความมั่นคงและยืนยาว
“เรายังขาด บุคลากร แม้จะมีครูอาสาประมาณ 30 คนแล้วก็ตาม ใครสนใจจะมาร่วมทำงานกับเรา เป็นครูสอนเด็กๆ ที่ด้อยโอกาส เรายินดีต้อนรับ”
ครูปู่เล่าว่า โรงเรียนชั่วคราวของครูแห่งนี้ เพิ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2550 แรกเริ่มมีครูอาสา เพียง 4 คน หลังจากนั้นค่อยๆ เพิ่มขึ้นมา จนปัจจุบันมีครูหมุนเวียนกันมาสอนถึง 30 คน
นักเรียนทั้งหมดมี 122 คน มาจากชุมชนตึกแดงเขต 2 และ เขต 3 ส่วนเขต 1 นั้น ครูปู่บอกว่า ยังไม่มีใครเข้ามาเรียน อาจจะเป็นเพราะว่าห่างไกล หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะว่า ผู้ปกครองยังไม่สนับสนุนให้มา ที่นี่เรียน เฉพาะวันเสาร์ เริ่มเรียนตั้งแต่เวลา 9 โมงเรื่อยไป จนเที่ยง เราเลี้ยงอาหาร 1 มื้อ แล้วต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับบ้าน และการเรียนการสอน โรงเรียนของครู ซ.โซ่อาสาอาจไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน เพราะเมื่อครูกับนักเรียนพร้อม ครูจะดูความต้องการของนักเรียนว่า ต้องการเรียนวิชาอะไร และเรียนเรื่องอะไรสมมตินักเรียนต้องการรู้เรื่องการดู เวลา ครูก็จะสอนเรื่องการดูเวลา ถ้านักเรียนอยากรู้เรื่องการบวกเลข ครูก็จะสอนเรื่องการบวกเลข สำหรับนักเรียนที่เรียนหนังสือที่โรงเรียนอยู่แล้ว อ่อนด้อยวิชาใด อยากรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติม ครูก็จะช่วยเสริมให้ ตามหลักกว้างๆ ของโรงเรียนมีวิชาหลักคือ วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ในทุกๆวิชาที่สอน สิ่งที่ครูสอดแทรกเสมอคือเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อให้เด็กเป็นคนดีของสังคม
ส่วนเรื่องค่าอาหารครูปู่บอกว่า คณะกรรมการชุมชนตึกแดงเป็นผู้สนับสนุน วัสดุ อุปกรณ์การเรียนการสอนนั้น มีหน่วยงานเอกชนหลายรายนำมาบริจาค “สิ่งของ แรกๆ เราก็ช่วยกันคนละเล็กละน้อย ต่อมามีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ ทั้งเงินทอง และสิ่งของ ซึ่งเรื่องนี้เราไม่ได้เรียกร้อง” ครูปู่บอก
สำหรับ แรงผลักให้ครูหันมาเป็นครูข้างถนนคือ “อาชีพเดิมเรา เป็นครู และเห็นความแตกต่างของเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา เด็กเหล่านั้นส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนแออัด ผมอยากให้พวกเขาเป็นคนดี มีความรู้” ซี่งช่วงเริ่มต้น “ชาวบ้านเขาไม่เข้าใจครับ วันหยุดเขาอยากให้ลูกๆ ช่วยทำงาน อยากให้ขายพวงมาลัย เก็บขยะ ล้างชาม และบางคนเอาไปขอทานก็มี การเข้ามาของเราก็เหมือนไปแย่งเวลาทำมาหากินของเขา แต่ภายหลังเมื่อเห็นเราเอาจริง เขาก็เริ่มเห็นคุณค่า เริ่มเปลี่ยนแปลงความคิดให้ลูกเข้ามาเรียน”
จุดหมายปลายฝันของครูปู่ สิ่งที่ต้องการคืออยากให้เด็กเป็นคนดี มีความรู้ มีจริยธรรม เพื่อสังคมจะได้เป็นสุข ส่วนในแง่ของวัตถุอยากตั้งโรงเรียนในชุมชนแออัด “แต่ผม ว่ามันไกลเกินไป เอาแค่ให้มีห้องสมุดให้เด็กๆ ได้อ่านหนังสือก็ดีแล้ว” หากมองไกลออกไปในสังคมข้างๆโรงเรียน ครูปู่มองว่า ชุมชนแออัดทุกๆ ที่มีปัญหาคล้ายๆกันคือ ปัญหาครอบครัวแตกแยก ปัญหาการทำมาหากินไม่พอกิน สุขภาพอนามัยไม่ดี และปัญหายาเสพติดที่กำลังกลับมาอีกระลอกหนึ่ง
ซ.โซ่อาสา เป็นกลุ่มอาสาสมัครอิสระไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงานใดๆ เป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่สนใจ ใส่ใจ ห่วงใยสังคม มาจากหลากหลายสาขา อาชีพ ทั้งจากหน่วยงานราชการ และบริษัทเอกชน อาชีพอิสระ ธุรกิจส่วนตัว รวมถึงมูลนิธิ ต่างๆ ทั้งที่มาเป็นประจำและมาเป็นครั้งคราวตามเวลาว่าง หรือมาร่วมเฉพาะกิจกรรมที่สนใจ แม้วันธรรมดา (จ-ศ) จะต้องทำงานประจำ แต่พอวันว่าง (ส- อา) ก็จะรวมตัวกันทำ กิจกรรมเพื่อ ผู้ด้อยโอกาสในสังคม
พลังเล็กๆ ที่ส่องสว่างตามซอกซอยเมืองใหญ่ แม้จะไม่ได้ทำให้เมืองทั้งเมืองสว่างไสวขึ้น แต่ก็ทำให้ซอกซอยเล็กๆ ที่เคยมืดมิด สว่างขึ้นจนเห็นหนทางในอนาคต และแสงสว่างเหล่านี้คงไม่มอดดับไป หากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ร่วมผสานกำลังกัน ต่อเติมความหวัง ความฝันให้เติมเต็มเพื่อให้พลังเล็กๆ มีแรงและกำลังที่จะผลิตแสงสว่างให้กับเมืองใหญ่ต่อไป “กองทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคม” จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างกลไกที่จะช่วยผลักดันและหล่อเลี้ยงให้กับกลุ่มเล็กๆ อย่างกลุ่ม ซ.โซ่ อาสา ที่ทำงานใหญ่ในสังคม ให้สามารถทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาสังคมไทยให้เติบโตไปได้อย่างยั่งยืน
ขอขอบคุณข้อมูล และภาพประกอบจาก
กลุ่ม ซ.โซ่อาสา และ http://icare.kapook.com