“ตราบใดที่ผมประกาศตัวเป็นนักอนุรักษ์ อะไรที่ทำได้เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติ รักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่งดงามไว้ให้คนรุ่นต่อไป ก็ยังเป็นงานที่ต้องทำต่อไป โดยไม่มีเงื่อนไขว่าจะแพ้หรือชนะแต่อย่างใดทั้งสิ้น”
ตลอดการทำงานที่ผ่านมา 10 ปีของ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเขาย้ำกับสังคมเสมอว่า “ผมทำงานให้พี่สืบ” ทำให้ชื่อเสียงของเขาเป็นที่รับรู้กันว่าเป็นนักต่อสู้หัวใจทรนงที่ทำทุกอย่างเพื่อรักษาผืนป่าตะวันตกตามเจตนารมณ์ของคุณสืบเช่นกัน กิจกรรมทล์อคออฟเดอะทาวน์ล่าสุดการเดินเท้า 388 กม.ในระยะเวลา 13 วัน จากแม่วงก์ถึงกรุงเทพเพื่อคัดค้านการอนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(HIA) ในโครงการการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ที่มีมวลชนออกมาร่วมด้วยนับหมื่นคนตลอดจนสังคมโซเชียลมีเดียออกมาให้กำลังใจอย่างท่วมท้น ส่งผลให้ภาครัฐตั้งกรรมการการศึกษาผลกระทบและให้หยุดการดำเนินการเขื่อนแม่วงก์ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย.ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้แบบอหิงสากับอำนาจของรัฐ
ศศินเล่าถึงตัวเองว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในตอนนั้นเขายังเป็นอาจารย์นักธรณีวิทยา มูลนิธิสืบฯได้พาเขาเก็บไปตัวอย่างดินที่ปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้กลางผืนป่าตะวันตก จ.กาญจนบุรี จนได้สมัครใจมาเป็นกรรมการมูลนิธิเริ่มต้นจากทำโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม (JOMPA) หรือที่รู้จักในนามโครงการจอมป่า ทำงานเรื่อยมาจนรับตำแหน่งเป็นเลขามูลนิธิสืบในปัจจุบัน
“ผมไม่ได้ตั้งใจคัดค้านเขื่อน จะมาทำโครงการจอมป่ากับอ.รตยา แต่ต้องมาทำสงครามกับโครงการของรัฐจำนวนมากที่สร้างผลกระทบและความขัดแย้งในชุมชน”
ความขัดแย้งมากมายที่เกิดขึ้นในผืนป่าตะวันตกทำให้ศศินเรียนรู้ที่จะจัดการปัญหาจากประสบการณ์ทำงานจากพื้นที่จริง ดังเช่นเขาออกมาเป็นแกนนำคัดค้านกรณีเปลี่ยนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง บริเวณน้ำตกทีลอซู เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี 2549 ด้วยการหวังผลให้การท่องเที่ยวน้ำตกทีลอซูได้รับความสะดวกจากการทำถนน ด้วยข้อมูลที่สามารถอธิบายได้ว่าการปรับเปลี่ยนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางจะเป็นการทำลายป่าในระยะยาวต่อไปเกิดธุรกิจการท่องเที่ยวก่อให้เกิดการรุกป่าเพิ่มขึ้นอีก ในที่สุดก็สามารถหยุดโครงการนี้ได้ นอกจากนี้ยังมีโครงการต่อสู้ให้มีการชะลอร่างกฏหมายอุทยานแห่งชาติและกฏหมายสงวนและรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ปรับแก้เปิดให้เอกชนเช่นพื้นที่ป่าได้
พร้อมกันนี้ศศินยังได้บอกเล่าสถานภาพของมูลนิธิสืบในวันนี้ว่า ที่ผ่านมาโครงการจอมป่าได้ใช้งบประมาณจำนวนมากแต่ก็ทำให้กะเหรี่ยงหยุดการทำไร่เลื่อนลอยหันมาทำไร่หมุ่นเวียนไม่ต้องเข้าไปรุกพื้นที่ป่าเพิ่ม รวมทั้งทำการสำรวจแนวเขตป่า จนอาจทำให้ 4-5 ปีอาจต้องโอนงานตรงนี้ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯเข้าไปดูแล เพราะหลังจากนี้มูลนิธิสืบไม่ได้ทุนสนับสนุนจากต่างประเทศเพราะต่างชาติมองว่าประเทศไทยไม่ยากจนอีกแล้ว ดังนั้นมูลนิธิต้องหาทุนในประเทศเองในจึงต้องยอมโดนต่อว่าว่ามูลนิธิรับเงินจากบริษัทเอกชน ขณะนี้ก็รับเงินจากไทยพาณิชย์ปีละ 20 ล้านบาท อีกทั้งการได้รับเงินสนับสนุนจากปตท.แต่ทั้งนี้การทำงานยังทำงานยังคงเป็นอิสระตามเจตนารมณ์ของมูลนิธิสืบฯต่อไป
“ผมอายุพอสมควรแล้ว โชคดีที่เคยเห็นแผ่นดินที่ยังสวยในแบบที่ผมชอบ แต่รุ่นต่อไปเขาก็โชคดีไปอีกแบบ ที่เกิดมาก็ไม่เห็นอะไรที่ว่ามาแล้ว ไม่ต้องมาเสียใจว่าเราสูญเสียอะไรไปบ้าง แต่แน่นอนว่าตราบใดที่ผมประกาศตัวเป็นนักอนุรักษ์ อะไรที่ทำได้เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติ รักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่งดงามไว้ให้คนรุ่นต่อไป ก็ยังเป็นงานที่ต้องทำต่อไป โดยไม่มีเงื่อนไขว่าจะแพ้หรือชนะแต่อย่างใดทั้งสิ้น” ความในใจของ ศศิน ที่บอกเล่าไว้ในหนังสือเพื่อจะยืนยันว่าจะมุ่งมั่นทำงานต่อต้านการรุกป่าสืบต่อไป
คุณศศิน เฉลิมลาภ เป็นเสมือนกระจกสะท้อนสังคมอย่างดี สะท้อนให้เห็นว่า “พลังพลเมือง” แม้จะต้องต่อสู้กับอะไรมากมายในสังคม แต่ด้วยใจที่แน่วแน่ต่องานที่ทำ ก็ทำให้มีพลังที่จะต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในสังคมได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ขอบคุณภาพประกอบจาก : http://www.myhappyoffice.com, http://www.seub.or.th