ด้วยพื้นฐานจากเด็กที่เกิดในครอบครัวชาวนาชนบท ทำให้ได้เห็นทุกแง่มุมที่เป็นความเหลื่อมล้ำ จนก้าวเข้าสู่วัยทำงานด้วยตำแหน่งผู้ช่วยนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากงานที่เน้นการสังเกต การเก็บข้อมูลเพื่อมาทำงานวิจัย จนในที่สุดผันตัวเองมาเป็นคนทำงานเพื่อพัฒนางานของผู้สูงอายุ
อ.สว่างได้เล่าว่า “การทำงานอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรผู้ที่ประสบปัญหาได้มากนัก จึงได้หันเหเส้นทางชีวิตออกมาทำงานแบบNGO ก็เริ่มต้นด้วยการทำงานกับต่างประเทศที่ได้สนับสนุนการทำงานในพื้นที่ชายแดนที่ยากลำบาก ทำมาได้สักระยะหนึ่ง จึงสนใจงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ถึงแม้ว่าจะไม่มีความรู้ด้านผู้สูงอายุสักเท่าไหร่ แต่ได้เห็นกระบวนการทำงานในการพัฒนาชุมชน ที่แนวคิดการทำงานด้านผู้สูงอายุที่จะเน้นแต่การสงเคราะห์ซึ่งอาจจะไม่ต่อเนื่อง องค์กรที่ให้ทุนไม่ได้มีส่วนร่วม เน้นแต่การซื้อของไปแจกผู้ด้อยโอกาส ซึ่งตรงนี้มองว่าไม่มีความยั่งยืน เขาไม่สามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้ จึงได้ตามหางานด้านผู้สูงอายุกับองค์กรที่เน้นการพัฒนาแต่ก็ไม่มี จึงได้ก่อตั้งนิติบุคคล เพื่อดำเนินการขอทุน Help Age International ก็ได้มีโอกาสพัฒนาแนวคิดเป็นไปในทางบวกมากขึ้น จึงนับเป็นจุดตั้งต้นที่ได้ทำงานเพื่อสังคม”
“ประเด็นปัญหาของผู้สูงอายุคือ ปัญหาความยากจนของครอบครัวผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นการทำงานจึงไม่เจาะจงตัวบุคคลอีกต่อไป แต่เป็นการเน้นกับชุมชนที่จะพัฒนาไม่ให้ผู้สูงอายุอยู่อย่างแร้นแค้นต่อไป และทำอย่างไรที่ชุมชนมาช่วย ไม่เอาหน่วยงานของตนเองเป็นพระเอก เป็นเจ้าของงาน แต่ทำหน้าที่หนุนเสริมความเข้มแข็ง จนกระทั่งได้มีการพัฒนาชมรมผู้สูงอายุ และร่วมกันพัฒนา จึงได้ค้นพบว่า ชมรมผู้สูงอายุไม่ได้ทำงานในเชิงรุกแต่จะรอว่าทางเทศบาล อบต. จะให้ทำอะไร จะให้ไปประชุมก็ไป ทำตามที่คนอื่นกำหนด จึงเริ่มทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพมากขึ้น ให้มีการพัฒนาเป็นแกนนำ จากจุดนี้เราก็เริ่มได้ทุน ได้จากประชาคมยุโรป และมีประเด็นการส่งเสริมสิทธิผู้สูงอายุ และความมั่นคงทางรายได้ของสังคมผู้สังคมอายุ”
ปัญหาและอุปสรรค เป็นประเด็นท้าทายมากกว่าเป็นปัญหา แนวคิดสำคัญที่ช่วยทำให้ อ.สว่างฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆมาได้อย่างเต็มภาคภูมิ
“ช่องทางที่จะแก้ไขมันมีอยู่เสมอ เพียงแต่เราจะต้องหลุดพ้นการทำงานแบบเดิม หลุดพ้นจากการทำงานแบบ top down แบบสั่งการ จากนั้นการทำงานต้องทำจากฐานล่าง ให้ชุมชนมองว่านั่นคือปัญหา และมาช่วยหาทางแก้ไข โดยการส่งเสริมให้ชมรมผู้สูงอายุสามารถเขียนขอทุนสนับสนุน และลุกขึ้นมาพัฒนาตนเอง เรามีกองทุนผู้สูงอายุ แต่กลไกของรัฐระดับจังหวัดไม่ทำงานเท่าที่ควรจะเป็น แต่สิ่งที่เราจะทำได้คือให้ความรู้กับชาวบ้าน กับชุมชนโดยการหารือ หาทางออกร่วมกัน และวิธีที่จะทำให้ยั่งยืน ให้พื้นที่ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วม ทำทุกอย่างโดยพวกเขาเองเป็นประธาน วิเคราะห์ปัญหา เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ถ้าเราออกมาแล้วเขาก็ยังทำต่อไปได้ เราจะต้องช่วยกันคิดมาร่วมกันวางแนวทางด้วยกัน เพื่อสร้างการเป็นเจ้าของปัญหา”
“การทำงานภาคประชาสังคมต้องยึดประชาชนกลุ่มเป้าหมายเป็นที่ตั้ง และมองเห็นปัญหาร่วมกัน วางแผนเริ่มต้น เราช่วยเหลือและทำงานสนับสนุน เพราะฉะนั้นเราจะไม่ทำงานแข่งกับใคร เราจะไปส่งเสริมให้กับคนที่เข้าไม่ถึง การทำงานแบบ NGO ที่เป็นมูลนิธิ เราก็เปรียบเสมือนพระสงฆ์ เราใช้ความศรัทธา ซึ่งถ้าเขาไม่ศรัทธาไม่ให้เงินเราทำงาน เราก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องไม่ทำให้เสียศรัทธา ต้องทำให้เกิดความโปร่งใส ตรงไปตรงมา”
กองทุนภาคประชาสังคม จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้คนทำงานเพื่อสังคมมีพลังในการทำงานมากขึ้น ซึ่ง อ.สว่าง คาดหวังว่า
“กองทุนภาคประชาสังคม จะต้องมีความคล่องตัว หน่วยราชการต้องไม่มามาเป็นหัวขบวน อย่างที่บางกองทุนเคยทำมาแล้ว ที่ให้นักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำกระทรวงมาเป็นผู้มีอำนาจการตัดสินใจ แต่ควรใช้กระบวนการประชาชนเป็นผู้บริหาร ไม่มีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง กองทุนนี้ก็จะไปถึงประชาชนได้มากกว่า ตอบโจทย์ปัญหาทางสังคมได้มากกว่า หน้าที่ต่อไปคือการไปให้ความรู้กับคนในชุมชน ให้สามารถเข้าถึงสิทธิ์ที่พึงได้”
ถ้าเราทำให้กองทุนภาคประชาสังคมเป็นองค์กรอิสระที่บริหารโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ ภาคประชาชนทุกภาคส่วน ในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งหากเกิดขึ้นจริงกับสังคมไทย
ป้าโก๋ ผู้คลี่คลายปัญหาของผู้หญิง
เอกสารจากการประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติการ : สานพลังภาคประชาสังคมจังหวัดด้วยพลังปัญญาท้องถิ่น
คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชนบท